บิดาแห่งจิตเวชศาสตร์และสุขภาพจิตไทย ศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว เป็นชาวเขมราฐ จ.อุบลราชธานี เกิดวันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2450 เข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ เป็นศิษย์โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และสำเร็จเวชบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่ออายุ 22 ปี เริ่มชีวิตราชการเป็นแพทย์หลวงท้องที่ จ.สกลนคร จนถึง พ.ศ.2477 เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา (โรงพยาบาลโรคจิตธนบุรี)ได้ไปศึกษาดูงานโรงพยาบาลจิตเวชประเทศต่าง ๆ และ พ.ศ.2482 ได้รับทุนไปศึกษาต่อจิตเวชศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโคโลราโด เดนเวอร์ และจอห์น ฮอปกินส์ บัลติมอร์ สหรัฐอเมริกา สำเร็จการศึกษาในปี 2484 กลับมารับ ตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จ เจ้าพระยา ต่อมาปี 2485 ดำรงตำแหน่ง
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา และเป็นหัวหน้ากองโรงพยาบาลโรคจิตด้วย พ.ศ.2505 เป็นอธิบดีกรมการแพทย์ และระหว่าง พ.ศ.2506-2510 ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขจนเกษียณอายุราชการ ช่วงที่ดูแลโรงพยาบาล ท่านมีความ
ปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเปลี่ยนสภาพคุกขังคนบ้าให้เป็นโรงพยาบาล รักษาผู้ป่วยอย่างแท้จริง และให้เป็นแหล่งตรวจรักษาโรคทางจิตที่ดีที่สุดเทียบเท่าอารยประเทศ เพื่อลดอคติ ความรังเกียจดูแคลนและความหวาดกลัวของประชาชนที่มีต่อผู้ป่วย ให้เหลือไว้แต่ความรัก เมตตาและเห็นอกเห็นใจ ท่านรื้อลูกกรงเหล็กที่สร้างตั้งแต่สมัย พ.ศ.2455 แล้วสร้างเรือนพักและเตียงผู้ป่วยใหม่ พอดีเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เหล็กราคาแพง ลูกกรง
เหล็กที่รื้อไว้ถูกนำ
ไปขายได้เงินไปสร้างโรงพยาบาลที่นนทบุรี ระบายผู้ป่วยประมาณ 200 คนไปไว้ที่นั่น พัฒนาระบบสุขาภิบาล และขุดบ่อน้ำสำหรับใช้ทั่วบริเวณโรงพยาบาล ท่านริเริ่มจัดประชุมวิชาการประจำปี เพื่อให้จิตแพทย์ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ริเริ่มทำการทดสอบทางจิตวิทยา เริ่มงานอุตสาห กรรมบำบัด ตามด้วยสร้างห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อทาง
พยาธิวิทยา และตั้งโรงเรียนผู้ช่วยพยาบาลวิชาโรคจิต นอกจากนี้ยังจัดหาทุนสร้างเรือนผู้ป่วยอีกหลายหลัง ด้วยจิตวิญญาณที่มุ่งมั่นจะช่วยเหลือผู้ที่ทนทุกข์อันเกิดจากการเจ็บป่วยทาง จิต ปรารถนาจะช่วยให้พบกับความสุขอีกครั้งด้วยพลังความรักความเมตตา ทั้งมุ่งมั่นสร้างบุคลากร สนับสนุนแพทย์ไปศึกษาจิตเวชศาสตร์ในต่างประเทศ เพื่อกลับมาพัฒนาบริการจากระบบกักขัง สู่การรักษาพยาบาล ขณะเดียวกันให้เป็นครู
สอนนักศึกษาแพทย์รุ่นต่อ ๆ มา ช่วงดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีโรงพยาบาลจิตเวชทั้งในส่วนกลาง
และส่วนภูมิภาครวม 14 แห่ง ดังปรากฏทุกวันนี้ และเพื่อบำรุงส่งเสริมวิชาจิตเวชศาสตร์ให้ก้าวหน้าเพื่อเผยแพร่ความรู้ไปสู่ ประชาชน ตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้แก่สมาคม
องค์กรและสถาบันที่เกี่ยวข้อง ท่านได้ก่อตั้งสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยขึ้นเมื่อ พ.ศ.2496 ศาสตราจารย์นายแพทย์ฝนได้รับยกย่องทั้งในและต่างประเทศ และการยกย่องอย่างยิ่งจากคณะกรรมการทรัสตี ให้ได้รับรางวัลแม็กไซไซ ประเภทข้าราชการ ประกาศเกียรติคุณเป็น ผู้เห็นการณ์ไกล วางแผนจัดสรร สร้างงานและจัดเจ้าหน้าที่ในวิชาการและการบริหารงานสุขภาพจิตในประเทศไทยได้ อย่างดีเยี่ยม ตลอดเวลาอันยาวนานนับแต่เริ่ม
รับราชการกระทั่งเป็นข้าราชการบำนาญ ยังมีคุณูปการใหญ่หลวงแก่วงการสุขภาพจิตและจิตเวชในประเทศไทย เป็นผู้วางรากฐานวิชาจิตเวชศาสตร์และสุขภาพจิต ที่สุดได้รับยกย่องเป็นบิดาแห่งจิตเวชศาสตร์และสุขภาพจิตของประเทศไทย ท่านถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ.2524 ฝากไว้คือแนวคิดสำคัญ รักษาให้หายทำได้บางคราว ช่วยให้ทุเลายังทำได้บ่อยกว่าแต่การปลอบใจให้สบายขึ้นนั้น ทำได้ตลอดกาล
จากที่แห่งนี้
คัดบางส่วนจากหนังสือพิมพ์"ข่าวสด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น